ท่อประปารั่วใต้พื้นบ้าน

ท่อประปารั่วใต้พื้นบ้าน

สาเหตุที่ทำให้ท่อประปารั่วใต้พื้นบ้าน

  • รอยแตกร้าว รอยแตกร้าวของผนัง หรือระหว่างผนัง และพื้น อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ไปกระทบกับท่อน้ำ ที่ถูกฝังอยู่ในผนังบ้าน หรือใต้พื้นบ้าน
  • ข้อต่อท่อ เป็นจุดที่เกิดปัญหาค่อนข้างบ่อย เพราะตอนวางระบบน้ำ ช่างอาจจะใช้แรงมากเกินไปจนท่อร้าวได้ หรือบางกรณีอัดกาวไม่แน่นพอ จะเกิดท่อหลวม ซึ่งเมื่อเป็นการร้าวของท่อที่ฝังอยู่ใน พื้นใต้บ้าน หรือกำแพง อาจจะต้องสกัดปูน เพื่อเปลี่ยนข้อต่อท่อในส่วนนั้น 
  • แรงดันภายในท่อน้ำ ช่วงที่ไฟฟ้าดับ ทำให้เครื่องสูบน้ำหยุดทำงานฉับพลัน แต่เมื่อไฟฟ้ากลับมาปกติ อาจเกิดการกระแทกกลับของน้ำในท่อ เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ท่อประปาแตกได้ หรือการที่ปล่อยให้ ถังเก็บน้ำแห้งเป็นประจำ อากาศจะเข้าไปแทนที่ภายในท่อ และเมื่อเปิดใช้น้ำ จะเกิดแรงอัดจนท่อแตกได้
  • ดินทรุด เป็นสาเหตุที่สังเกตได้ค่อนข้างยาก เพราะบ้านที่ปลูกสร้างไว้หลายปี อาจเกิดปัญหาดินทรุดแบบไม่รู้ตัว หรืออาจทรุด เฉพาะส่วนที่ต่อเติมบ้านออกไป จนกระทบท่อน้ำขยับ จนหลุดตามไปด้วย 
  • งานติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน ความชำนาญของช่าง เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ ถ้าได้ช่างที่ไม่ได้มาตรฐาน มักทำให้งานมีปัญหาหลังจากที่ใช้งานไปได้ระยะหนึ่ง ที่พบมาก คือ น้ำรั่วบริเวณข้อต่อต่าง ๆ เนื่องจากการต่อท่อไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ทดสอบแรงดันน้ำในเส้นท่อก่อน ส่งผลให้เกิดปัญหาในภายหลัง อีกทั้งขั้นตอนในการต่อท่อ ก็ต้องทำให้เรียบร้อย เลือกช่างที่ไว้ใจได้ เพื่อที่จะได้งานระบบประปาที่มีคุณภาพ ใช้ไปได้นาน

วิธีแก้ไขท่อประปารั่วใต้พื้นบ้าน

สำหรับท่อประปาใต้ดิน หรือใต้บ้านนั้น ค่อนข้างยากที่จะตรวจสอบหรือพบเห็น แต่ก็สามารถสังเกตได้จากการใช้น้ำในชีวิตประจำวันว่า น้ำประปา ไหลอ่อนกว่าปกติ ซึ่งถ้าไม่พบความผิดปกติที่จุดอื่น ให้ลองตรวจสอบดูทั้งบริเวณภายใน และภายนอกบ้าน ว่ามีน้ำรั่วซึมจนขังที่พื้นบ้าน หรือสนามหญ้าตลอดเวลาหรือไม่ และกรณีที่ท่อน้ำรั่วซึมจากการทรุดตัวของบ้าน หรือส่วนต่อเติมบ้านทรุด สังเกตได้ว่า บริเวณที่ อาจเป็นปัญหาจะมีการทรุดตัวมากกว่าส่วนอื่น ๆ เนื่องจากดิน หรือทรายใต้ดิน มีการเคลื่อนตัว

การแก้ไขเบื้องต้น 

หากพบว่า มีท่อน้ำรั่วใต้ดิน หรือท่อน้ำประปารั่วใต้พื้นบ้าน ต้องใช้วิธีขุดเข้าไปในบริเวณที่มีปัญหา เพื่อทำการซ่อมแซม แต่จะขุดมากน้อยแค่ไหน อาจต้องประเมินดูตามโครงสร้างของบ้าน ซึ่งโดยปกติแล้ว ตัวโครงสร้างบ้าน จะมีฐานรากรองรับอยู่ ซึ่งจะมีช่องว่างพอ ที่จะสามารถมุดเข้าไปซ่อมแซม แก้ไขท่อบริเวณใต้บ้านได้ ดังนี้

  1. ทำการสกัดผิวพื้น ด้วยสว่านไฟฟ้า แบบเจาะกระแทก หรือค้อน โดยค่อย ๆ เจาะ ตามแนวท่อ ควรระวัง ไม่ให้กระทบกระเทือนโครงสร้าง หากเกรงว่าโครงสร้างข้างเคียงจะได้รับความเสียหาย สามารถเลือกใช้เครื่องตัดไฟเบอร์ ช่วยในการเปิดพื้นผิวแทน แต่การใช้เครื่องตัดไฟเบอร์ จะทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายเป็นจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการควบคุมความสะอาด
  1. เมื่อเปิดพื้นผิวคอนกรีต จนพบจุดที่รั่วซึม ให้ตัดต่อท่อ PVC ส่วนที่เสียหายทิ้ง แล้วต่อใหม่ ในจุดที่ประเมินว่า โครงสร้างบ้าน ยังเกิดการทรุดตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง การเดินท่อ PVC ใหม่ ก็อาจเกิดปัญหาเช่นเดิมขึ้นได้อีกในอนาคต ให้เปลี่ยนไปใช้ท่อ PE ซึ่งเป็นท่อที่มีความแข็งแรงทนทาน ยืดหยุ่น สามารถโค้งงอได้ แม้ว่าโครงสร้างจะเกิดการทรุดตัว ท่อ PE จะมีการยืดหยุ่นตัว ไม่แตกหัก หรือเกิดการคลายตัวบริเวณข้อต่อเหมือนท่อ PVC
  1. ทดสอบปล่อยน้ำเข้าท่อประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้แน่ใจว่า จุดที่ทำการซ่อมแซมนั้น ไม่มีการรั่วซึมออกมา จากนั้น ให้ใช้ปูนประเภทที่ใช้สำหรับงานซ่อมแซมอุดฉาบ ทำการฉาบ พร้อมตกแต่งผิวให้เรียบร้อย

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *